10 เรื่องที่คนส่วนใหญ่ มักทำพลาดเวลายื่นภาษี
ดูไว้อย่าให้พลาด 10 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเมื่อต้องยื่นภาษี
หน้าที่ที่คนทำงานทุกคนเจอไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตามคงไม่พ้นเรื่องของการยื่นภาษีที่เราต้องยื่นกันทุกปี เราลองมาสำรวจดูว่ามีข้อผิดพลาดไหนบ้าง ที่ส่วนใหญ่คนทั่วไปเผลอทำกัน เพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจเรื่องภาษีอย่างครบถ้วนมากขึ้น และวางแผนยื่นภาษีกันให้ถูกต้อง สบายใจไร้กังวล
1. คำนวณภาษีเงินได้ผิด
หลายคนยังสับสนกับวิธีคำนวณภาษีของตัวเอง ซึ่งการคำนวณภาษีเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้ (สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน)[(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] * อัตราภาษี
- เงินได้ คือ รายได้ทั้งปี รวมโบนัส หรือถ้าเป็นพนักงานบริษัท ก็คือ เงินเดือน x12+โบนัส
- ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อหักเป็นต้นทุนสำหรับการทำมาหารายได้ของเรา การหักค่าใช้จ่ายมี 2 แบบคือการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา และ การหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง
- ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายเปิดช่องเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บิดามารดา บุตร อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ เบี้ยประกันบิดามารดา ฯลฯ
- เงินบริจาค คือ เงินที่ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนไม่เกิน 10% จากเงินได้สุทธิก้อนแรก เช่น เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์
ถ้ามองตัวเลขแล้วรู้สึกตาลาย แนะนำว่าคุณสามารถใช้เครื่องมือคำนวณภาษี ตรงนี้ก็ได้ และหากคุณเป็นพนักงานบริษัท การติดตามข้อมูลเคล็ดลับลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราอยากแนะนำให้คุณอ่านเพิ่มเติม
2. เงินปันผลจากกองทุนรวม
คนที่เสียภาษีหลายคนเลือกลงทุนในกองทุนรวมซึ่งกองทุนรวมที่เลือกลงทุนบางกองมีการจ่ายปันผล ซึ่งจะต้องเสียภาษี 10% (ทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผล) เมื่อยื่นภาษีสามารถนำปันผลที่ได้มารวมเป็นรายได้ประจำปีเพื่อคำนวนภาษีด้วยหากอยากทราบเรื่องการลงทุนให้เหมาะกับรายได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความลงทุนให้เหมาะกับรายได้ ลดหย่อนภาษีได้เต็มๆ รวมถึงบทความเทคนิคลดหย่อนภาษี สร้างเงินเพิ่มด้วยการหมุนเงินลงทุน
3. ไม่เข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เวลาที่ได้สลิปเงินเดือนมาเราจะเห็นว่ามีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ทำให้จำนวนเงินไม่ได้เป็นตัวเลขกลมๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ จะหักออกจากจำนวนภาษีสิ้นปีที่เราต้องจ่าย และถ้าเราถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีสิ้นปีที่คำนวณออกมาได้ เราจะได้รับเงินคืนภาษี เป็นส่วนที่ทางรัฐกำหนดไว้เพื่อลดจำนวนเงินก้อนที่เราต้องจ่ายจำนวนมากในครั้งเดียวของการเสียภาษี
4. หักลดหย่อนบิดา มารดา ซ้ำ
คุณสามารถลดหย่อนได้ในกรณีที่ตนเองเลี้ยงดูบิดามารดาที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะมีสิทธิหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทมักมีหลายๆ คนพลาดในจุดนี้ เพราะคิดว่าลูกหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิเลี้ยงดูบิดาหรือมารดา เช่น ครอบครัวหนึ่งมีลูกทั้งหมด 3 คน มีรายได้ที่ต้องเสียภาษี ลูกคนที่หนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนจากการดูแลคุณแม่ และคุณพ่อ จะทำให้ลูกอีกสองคนไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ หรือ หากลูกคนที่หนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนการดูแลคุณแม่ ลูกคนที่สองใช้สิทธิลดหย่อนดูแลคุณพ่อ จะทำให้ลูกคนที่สามไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ การใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดานั้นสามารถให้สิทธิใครลดหย่อนก็ได้ขึ้นอยู่กับบุตรตกลงกันเอง นอกจากนั้นถ้าหากคุณพ่อหรือคุณแม่เข้าข่ายเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อีก 60,000 บาท รวมทั้งหมดเป็น 90,000 บาท
5. ไม่เข้าใจการหักลดหย่อนด้วยประกันชีวิต
บางคนทำประกันชีวิตไว้เพราะหวังจะนำมาลดหย่อนภาษีเยอะๆ เพราะเห็นว่าเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดให้หักลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น ถ้าจ่ายเบี้ยประกันปีละ 500,000 บาทก็นำมาลดหย่อนได้ 100,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่ทุกประกันชีวิตจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ต้องเป็นแบบประกันที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปประกันสุขภาพ สามารถนำเบี้ยประกันมายกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และนำไปรวมกับประกันชีวิตทั่วไป+เงินฝากแบบมีประกันชีวิต รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้หลายคนอาจลืมไปว่าค่าเบี้ยประกันบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ (ตามที่จ่ายจริง) แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข,และ RMF ไม่เกิน 500,000 บาท และอาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทหากยังไม่ได้ใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป
6. พลาดไม่ซื้อประกันสุขภาพบิดามารดา
ประกันชีวิตเหมือนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรมีติดตัว ยิ่งถ้าประกันสุขภาพด้วยแล้วก็เป็นของจำเป็น ซึ่งอยากบอกว่าถ้าคุณซื้อประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท (กรณีบิดามารดารายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) ได้ทั้งความอุ่นใจและได้ลดหย่อนภาษีพร้อมกัน7. ฟรีแลนซ์ลืมขอใบทวิ 50
ฟรีแลนซ์หลายคนมีงานเข้าไม่ขาดสาย มีรายรับท่วมท้น แต่เมื่อถึงเวลาเสียภาษีก็อาจจะต้องเหงื่อตกได้ เพราะไม่ได้ขอใบทวิ 50 (ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย) จากนายจ้างเอาไว้ จนอาจทำให้เจอกับภาษีย้อนหลังและอดได้เงินคืนภาษี รู้แบบนี้ก็ควรรีบขอนายจ้างไว้ด่วนๆ เลย
8. ยื่นภาษีผิด
เนื่องจากรายการเสียภาษีมีค่อนข้างเยอะเหลือเกิน จนอาจทำให้สับสนแล้วกรอกรายละเอียดยื่นภาษีผิดไปได้ แต่ยังมีความหวังเพราะสามารถยื่นใหม่ทั้งหมดได้ (สำหรับคนที่ยื่นเป็นเอกสาร) ส่วนกรณีที่ยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะสบายกว่ากันหน่อย เพราะสามารถกด “ยื่นเพิ่มเติม” ได้เลย ส่วนหลังยื่นภาษี คือส่วนที่ได้รับเงินคืนมาแล้วเพิ่งทราบว่ามีข้อผิดพลาด ให้ลองตรวจสอบจำนวนเงินคืนที่ได้รับมา โดยถ้าได้รับมากหรือน้อยกว่าที่ควร ให้รีบติดต่อกรมสรรพากรเพื่อจะได้พิจารณาข้อมูลการยื่นภาษีของเราอีกครั้ง9. ไม่สมัครพร้อมเพย์
ปัจจุบันกรมสรรพากรยกเลิกเช็คคืนภาษีทางไปรษณีย์ หากต้องการได้เงินคืนภาษีเร็วแนะนำสมัครบริการพร้อมเพย์ทำให้ได้ได้เงินไวมากๆ โดยเงินคืนภาษีของเราจะถูกโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ แต่หากไม่มีพร้อมเพย์ สามารถนำหนังสือแจ้งคืนภาษีไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเงินภาษีเข้าบัญชี และ หากไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ต้องการเงินคืนภาษีก็ไม่ต้องกังวลใจ สามารถติดต่อขอเงินคืนภาษีที่ธนาคารกรุงไทย โดยทำตามระบบที่ทางธนาคารกำหนดไว้โดยเตรียมหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีที่สรรพากรจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ และ บัตรประจำตัวประชาชน(หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง)ไปด้วยนะครับ10. ยื่นภาษีล่าช้า
การยื่นภาษีล่าช้าก็มีโทษด้วย โดยถ้ายื่นช้ากว่าเวลาที่กำหนดจะถือว่ามีความผิด ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่คุณต้องชำระ (ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็นเท่ากับ 1 เดือน) และค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาทเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องใช้การเตรียมตัวที่ดี หลังจากอ่านจบแล้วก็ลองเตรียมเอกสารอย่างถี่ถ้วน และไม่ลืมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่ว่าปีหน้าจะได้ยื่นภาษีกันอย่างสบายๆ นะครับ